Colostrum สำคัญมากกว่าที่เราคิด

Colostrum สำคัญมากกว่าที่เราคิด

ลูกสัตว์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 วัน เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด พบว่าลูกสุนัขและแมวประมาณ 20% เสียชีวิตก่อนอายุ 21 วัน และ 70 – 90% ของการเสียชีวิต มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร (carnivore) จะอาศัยน้ำนมเหลือง (colostrum) ที่หลั่งเฉพาะในช่วง 2 วันแรกหลังการคลอดในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์แรก ที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าว เนื่องจากใน colostrum มีสารอาหารและสารภูมิต้านทาน (Immunoglobulin; Ig) โดยคุณภาพของภูมิคุ้มกันที่รับมา (passive immunity) และพลังงานที่ได้จาก colostrum จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวตของลูกสัตว์แรกเกิด

Colostrum เกิดขึ้นได้อย่างไร

ความแตกต่างของ colostrum กับน้ำนมปกติในสุนัข คือ สัดส่วนของชนิด Immunoglobulin โดยcolostrumจะมีปริมาณ IgG 60% IgA 35-40% และ IgM 5% ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อลูกสัตว์แรกเกิด โดยเป็นภูมิคุ้มกันเหลักในช่วง 3-6 สัปดาห์แรกของชีวิต IgG มีหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันทั่วร่างกาย ส่วน IgA และ IgM เป็นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ โดยความเข้มข้นของ IgG ที่สูงนั้นมาจาก IgG ในกระแสเลือดของแม่สุนัขจับกับตัวรับจำเพาะที่เซลล์เต้านม และสะสมอยู่ภายในเนื้อเยื่อเต้านมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์

เมื่อถึงเวลาเลี้ยงลูกหลังคลอด ปริมาณ IgG จะออกมามากในครั้งแรกของการหลั่งของน้ำนม และลดลงอย่างรวดเร็วถึง 50% ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ จะมีเพียง 40% ของ Ig ในนมน้ำเหลืองเท่านั้นที่สามารถดูดซึมผ่านทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดของลูกสุนัขได้ และการดูดซึมจะค่อยๆ ลดลงจนถึง 12 – 16 ชั่วโมงหลังคลอด ที่ช่องว่างระหว่างผนังลำไส้ (intestinal barrier) ของลูกสุนัขจะปิดทั้งหมด หรือที่เรียกว่า timing of the intestinal barrier closure ดังนั้นการได้รับน้ำนมตั้งแต่แรกเกิดจึงมีความจำเป็น เพื่อที่ลูกสัตว์จะได้รับภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ โดยระดับของภูมิคุ้มกันในลูกสุนัขอายุ 2 วัน คือควรมี IgG ในกระแสเลือดไม่ต่ำกว่า 2.3 กรัม/ลิตร

ลูกสุนัขควรได้รับนมน้ำเหลืองมากเท่าไรถึงจะพอ

ปริมาณ colostrum เฉลี่ยที่ลูกสุนัขควรได้รับเพื่อให้ได้ระดับภูมิคุ้มกันขั้นต่ำดังกล่าว คือ 1.3 มล. ต่อลูกสุนัขน้ำหนัก 100 กรัม ภายใน 8 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนค่าเฉลี่ยของปริมาณ colostrum ที่ควรได้รับเพื่อให้ได้พลังงานที่เพียงพอนั้นมีปริมาณมากกว่า คือ 12 มล. ต่อลูกสุนัขน้ำหนัก 100 กรัม ต่อวัน (พลังงานที่ลูกสุนัขต้องการ คือ 212 กิโลแคลอรี/กก./วัน, กรณี colostrum ให้พลังงาน 1,800 กิโลแคลอรี/ลิตร) ทั้งนี้ขึ้นกับความแตกต่างของ colostrum ในแม่สุนัขแต่ละตัว นอกจากนี้ความเข้มข้นของ IgG ในองค์ประกอบของ colostrum ยังแตกต่างกันระหว่างแม่สุนัขแต่ละตัว และแตกต่างระหว่างเต้านมแต่ละตำแหน่งอีกด้วย นั่นก็เพราะ IgG ไม่ได้ถูกสร้างจากเนื้อเยื่อเต้านม แต่เป็นเพียงการเข้ามาสะสมจนกระทั่งสิ้นสุดการตั้งครรภ์

ในช่วงเริ่มต้นของการให้นม แม่สุนัขจะมีปริมาณการผลิตน้ำนมต่ำ แต่จะเพิ่มมากขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด ด้วยเหตุนี้ colostrumในช่วงต้นจึงมีความเข้มข้นของระดับภูมิคุ้มกันมาก และจะค่อยๆ เจือจางลงเมื่อมีการผลิตน้ำนมมากขึ้น ดังนั้นลูกสุนัขที่คลอดเป็นลำดับท้ายๆ ของครอก จากแม่ที่ใช้ระยะเวลาคลอดนาน อาจพบว่าลูกสุนัขได้รับ colostrum ที่มีความเข้มข้นของภูมิคุ้มกันต่ำ เนื่องจากลูกสุนัขที่คลอดออกมาเป็นตัวแรกๆ เริ่มดูดนมไปก่อน จึงทำให้บางเต้านมได้มีการขับน้ำนมออกไปบางส่วนแล้ว ทำให้ปริมาณ IgG ลดลงก่อนที่ตัวอื่นๆ จะคลอด หรือเริ่มดูดนม

บทบาทของ colostrum

แม้ว่าช่องว่างผนังลำไส้ (intestinal barrier) ของลูกสุนัขจะปิดไปแล้ว แต่ทั้ง IgG และ IgA ใน colostrum ก็ยังคงมีส่วนร่วมในระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ (local immunity) ของทางเดินอาหาร โดยการดักจับสิ่งแปลกปลอม ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้แก่เม็ดเลือดขาวเช่นเดียวกับ antigen presenting cell นอกจากนี้ใน colostrum ยังประกอบด้วยฮอร์โมนที่มีความสำคัญ เช่น cortisol, insulin, growth hormone และ growth factors อีกหลายชนิด ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการและการเจริญของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน และต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มการดูดซึมสารอาหารและการเผาผลาญของลูกสัตว์ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ลูกสุนัขได้รับน้ำนมหรือ colostrum ไม่เพียงพอ มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริมภูมิคุ้มกันสูง (hyperimmune supplement) เพื่อช่วยเสริมให้ลูกสุนัขได้รับภูมิคุ้มกันและมีสุขภาพดี ได้แก่ การเก็บแช่แข็ง colostrum (colostrum banking) ของแม่สุนัขที่อยู่ในครอกเดียวกัน ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการทดแทน colostrum ให้กับลูกสุนัขแรกคลอด การเสริมด้วยเซรั่มของสุนัข และการเสริมผงไข่ภูมิคุ้มกันสูง (hyperimmune egg powder) จากแม่ไก่ที่ได้รับการทำวัคซีน Canine parvovirus type 2 (CPV2) เชื้อแบคทีเรีย E.coli หรือ Salmonella spp. เป็นต้น แม้ว่าอาหารเสริมเหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกัน IgG โดยตรง แต่ก็มีสารอาหารและพลังงาน ทั้งยังมีผลต่อการเจริญเติบโต เสริมการทำงานของทางเดินอาหาร เพิ่มปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ (intestinal microbiota) และสามารถป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารได้

สพ.ญ.ปลิดา กุลจรัสวัฒนะ

อ้างอิงข้อมูล:

S Chastant-Maillard, L Freyburger, E Marcheteau3, S Thoumire, JF Ravier6 and K Reynaud. Timing of the Intestinal Barrier Closure in Puppies. 2012. Reprod Dom Anim 47 (Suppl. 6): 190–193.

S Chastant-Maillard, C Aggouni, A Albaret, A Fournier, H Mila. Canine and feline colostrum. 2017. Reprod Dom Anim 52 (Suppl. 2): 148–152.

Hanna Mila, Alexandre Feugier, Aurelien Grellet, Jennifer Anne, Milene Gonnier, Maelys Martin, Lisa Rossig, Sylvie Chastant-Maillard. Immunoglobulin G concentration in canine colostrum: Evaluation and Variability. 2015. Journal of Reproductive Immunology (112): 24–28.

H Mila, A Grellet, C Mariani, A Feugier, B Guard, J Suchodolski, J Steiner, S Chastant-Maillard. Natural and artificial hyperimmune solutions: Impact on health in puppies. 2017. Reprod Dom Anim 52 (Suppl. 2): 163–169.