เลือกใช้ ABO ตัวไหนดี

เลือกใช้ ABO ตัวไหนดี

(How to choose ABOs)

ยาปฏิชีวนะอาจกล่าวได้ว่าเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ในการรักษาของสัตวแพทย์ เนื่องจากในปัจจุบันมียาให้เลือกใช้อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้การเลือกใช้ยามีความสับสนได้ ฉบับนี้เราจะมาพูดถึงแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะ ข้อควรคำนึงถึงและข้อควรระวังในการใช้ยาแต่ละชนิดทางคลินิก โดยจะรวมข้อสงสัยที่สัตวแพทย์มักพบเจอ และก่อให้เกิดความสับสนอยู่เป็นประจำ

ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ bactericidal และ bacteriostatic มีข้อแนะนำในการเลือกใช้ต่างกันอย่างไร

ยาปฏิชีวนะอาจแบ่งได้ตามลักษณะการออกฤทธิ์เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. Bactericidal : เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรียโดยตรง เหมาะกับการให้ในสัตว์ที่มีภาวะร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น ในรายสัตว์ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น กลุ่ม β-lactams, aminoglycosides หรือ fluoroquinolones
  2. Bacteriostatic : ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและปล่อยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจัดการกับสิ่งแปลกปลอมด้วยตัวเอง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น doxycycline หรือ azithromycin เป็นต้น
Bactericidal drug Bacteriostatic drug
β-lactams Lincomycin derivatives (clindamycin)
Aminoglycosides Macrolides (Azithromycin)
Fluoroquinolones Tetracyclines (doxycycline)
Sulfa-trimetroprim
Nitroimidazoles (metronidazole)

ตารางที่ 1 แสดงยาที่มีฤทธิ์ bactericidal และ bacteriostatic

ยาที่มีฤทธิ์เป็น bactericidal โดยเฉพาะยากลุ่ม β-lactams จะทำงานได้ดีในกรณีที่เชื้อโรคในร่างกายแบ่งตัวหรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นโดยทั่วไปเราจะไม่นิยมให้ยากลุ่มนี้ร่วมกับกลุ่ม bacteriostatic เนื่องจากอาจจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่จำเป็นต้องให้ยาร่วมกันก็สามารถทำได้แต่อาจจะทำให้ผลที่ได้เป็นลักษณะของ 1 + 1 = 1.5 ซึ่งในกรณีนี้การให้ยาจะต้องคำนึงถึงสภาพของสัตว์ป่วย และความจำเป็นที่ต้องให้เป็นกรณีๆ ไป

มีวิธีเลือกอย่างไร ว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มไหนกับเคสของเรา

การแบ่งยาเป็นกลุ่มที่มีผลและคุณสมบัติคล้ายคลึงกันเข้าไว้ด้วยกัน จะช่วยให้ง่ายต่อการจำคุณสมบัติและการเลือกใช้ยา ซึ่งหากเรามีความเข้าใจคุณสมบัติของยา ข้อดีและข้อเสียของยาในแต่ละกลุ่ม ก็จะทำให้เราเลือกใช้ยาแต่ละชนิดได้ง่ายขึ้น โดยยาที่นิยมใช้กันในทางคลินิกอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  1. βlactams : ยากลุ่มนี้ได้แก่ penicillin, ampicillin, amoxycillin, cephalosporin เป็นต้น ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้ดีกับแบคทีเรียชนิดแกรมบวกเป็นส่วนใหญ่และแบคทีเรียแกรมลบบางชนิด โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ยา cephalosporin กลุ่มใหม่ที่ออกมาสามารถออกฤทธิ์ครอบคลุมแบคทีเรียแกรมลบได้เพิ่มมากขึ้น เช่น cef-3 (ceftriaxone) หรือ cef-4 (ceftazidime) เป็นต้น แบคทีเรียบางตัวอาจสามารถสร้าง β-lactamase เพื่อทำลายโครงสร้างของยา β-lactams ได้ จึงได้มีการเพิ่มสารบางตัว เช่น clavulanic acid เพื่อไปยับยั้งไม่ให้เกิดกระบวนการทำลายดังกล่าว ยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรืออาเจียนได้ ในทางคลินิกนิยมใช้ยาตัวนี้ในการติดเชื้อในหลายระบบ เช่น โรคผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินหายใจส่วนบน เป็นต้น เนื่องจากยาออกฤทธิ์วงกว้าง มีความปลอดภัยต่อตับและไตค่อนข้างสูง
  2. Aminoglycosides : ยาที่นิยมใช้ในทางคลินิกได้แก่ gentamycin และ amikacin โดยยาออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนโดยไปจับที่บริเวณ ribosome 30s ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ได้ดีกับแบคทีเรียแกรมลบ เนื่องจากยาอาจทำให้เกิด ototoxic และ nephrotoxic ได้ ในทางคลินิกจึงนิยมใช้กรณีที่สงสัยการติดเชื้อแกรมลบอย่างรุนแรงร่วมกับยาตัวอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น และไม่นิยมใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 7-10 วัน
  3. Fluoroquinolones : ยาในกลุ่มนี้ เช่น enrofloxacin, marbofloxacin และ orbifloxacin ยาออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nucleic acid ที่ DNA gyrase โดยออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ค่อนข้างกว้างมากทั้งแกรมบวกและลบ ปกติเราไม่แนะนำให้มีการใช้ยาตัวนี้เป็นกลุ่มแรกเพราะอาจจะทำให้เกิดการดื้อยากับกลุ่มอื่นได้ง่ายขึ้น จึงนิยมใช้ในกรณีที่มีการเพาะเชื้อร่วมด้วยเท่านั้น ผลข้างเคียงที่ควรระวัง เช่น อาจทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกในสัตว์ที่มีอายุน้อย ในแมวการให้ enrofloxacin ที่ขนาดสูงมากกว่า 5 มก./กก.
    เป็นระยะเวลานานอาจทำให้จอประสาทตาผิดปกติและตาบอดได้ นอกจากนี้การให้ยาร่วมกับยาบางชนิด เช่น aminophylline จะมีผลทำให้ระดับของยา aminophylline สูงกว่าปกติจึงจำเป็นต้องลดปริมาณยา aminophylline ลงร่วมด้วย ยากลุ่มนี้สามารถซึมผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อที่มีไขมันและออกฤทธิ์ในหลายอวัยวะได้ดี เช่น ในราย prostatitis, mastitis, pyometra เป็นต้น
  4. Nitroimidazoles : ได้แก่ metronidazole ยากลุ่มนี้นิยมใช้กันมากในรายของโรคทางเดินอาหาร เนื่องจากมีคุณสมบัติกำจัดเชื้อ anaerobic bacteria และ protozoa กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการสร้าง nucleic acid ในแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเชื่อว่ายามีคุณสมบัติ immunomodulatory effect ทำให้โรคทางเดินอาหารบางชนิดตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาชนิดนี้ค่อนข้างดี ผลข้างเคียงสำคัญที่มักพบคือ การให้ในปริมาณสูงเป็นเวลานานจะส่งผลต่อระบบประสาทและอาจทำให้เกิดความผิดปกติ cerebellovestibular sign ได้ ในทางคลินิกนิยมใช้ยาตัวนี้ในการรักษาโปรโตซัวจิอาร์เดีย หรือ anaerobic bacteria ร่วมด้วยกับยาอื่น
  5. Lincomycin derivatives : ยาที่นิยมใช้กลุ่มนี้คือ clindamycin ออกฤทธิ์ได้ดีกับแบคทีเรียแกรมบวก และ anaerobic bacteria โดยไปยับยั้งการสร้างโปรตีนที่ ribosome 50s ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น เกิดอาการอาเจียน ท้องเสียหลังให้ยา ในทางคลินิกเรานิยมใช้ในการติดเชื้อแกรมบวกที่สงสัยว่าเป็น facultative anaerobes เช่น รายที่ติดเชื้อในช่องปาก กระดูก เป็นต้น
  6. Macrolides : ยาในกลุ่มนี้เช่น azithromycin ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างกว้างทั้งแกรมบวกและแกรมลบ โดยไปออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนที่ ribosome 50s ในทางคลินิกนิยมใช้ยาตัวนี้ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เนื่องจากยาชนิดนี้มีค่าครึ่งชีวิตที่ยาวนานมากในสุนัขและแมว ในทางคลินิกจึงให้ยาเพียงวันละ 1 ครั้ง นานเพียง 5-7 วัน
  7. Doxycycline : ยาชนิดนี้อยู่ในกลุ่มพวก tetracyclines โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนที่ ribosome 30s ในทางคลินิกยาตัวนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายมาก เนื่องจากสามารถใช้ร่วมกับการรักษาพยาธิเม็ดเลือด Ehrlichia canis หรือเป็นยาหลักที่ใช้ร่วมกับการรักษาโรคฉี่หนู (Leptospirosis) โดยยาสามารถแพร่ผ่านไปยังหลายระบบของร่างกายได้ค่อนข้างดี ออกฤทธิ์กว้างครอบคลุมแบคทีเรียแกรมบวกและลบบางชนิด ผลข้างเคียงที่มักพบคือ ทำให้เกิดการอาเจียนหลังการให้ยา

เมื่อเราทราบคุณสมบัติของยาแต่ละกลุ่ม การให้ยาตามระบบก็จะทำได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีติดเชื้อที่ผิวหนังซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกรมบวก ก็ควรเลือกให้ยาที่ออกฤทธิ์กับแกรมบวกได้ดีและมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากต้องให้เป็นระยะเวลานาน เช่น กลุ่ม β-lactams เป็นต้น

การเพิ่มความถี่ของการให้ยา กับ การเพิ่มความเข้มข้นยา อันไหนได้ผลดีกว่ากัน ?

การออกฤทธิ์ของยาพอจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. Time dependent drug : ยากลุ่มนี้ได้แก่ยากลุ่ม β-lactams (amoxycillin, ampicillin, cephalosporin) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์คุมแบคทีเรียได้ดีเมื่อมีการให้ยาในช่วงความถี่
    ที่เหมาะสมเพื่อให้ระดับความเข้มข้นของยามีค่ามากกว่า minimum inhibitory concentration (MIC) โดยที่การเพิ่มปริมาณยาหรือความเข้มข้นของยาไม่ได้มีผลทำให้มีการคุมแบคทีเรียได้ดีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการให้ยากลุ่มนี้ในความถี่ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมาก
  2. Concentration dependent : ยากลุ่มนี้ได้แก่ พวกยา aminoglycosides, fluoroquinolones, metronidazole เมื่อเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นจะมีผลทำให้ฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียมีประสิทธิภาพสูงขึ้นตามไปด้วย การให้ปริมาณยาที่เหมาะสมในยากลุ่มนี้จึงมีผลกับประสิทธิภาพของยาโดยที่ความถี่ในการให้มีความสำคัญน้อยกว่า
  3. Concentration and time dependent : ในปัจจุบันมียาบางตัวที่สามารถออกฤทธิ์ได้ทั้ง time dependent และ concentration dependent เช่น clindamycin ซึ่งกรณีนี้การเพิ่มความถี่หรือการเพิ่มความเข้มข้นจะทำให้ประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นได้ทั้งนั้น
Time dependent drugs Concentration dependent drugs Concentration and time dependent
β-lactamห (cephalosporin, amoxycillin, ampicillin) Fluoroquinolones (enrofloxacin) Lincomycin derivatives (clindamycin)
Aminoglycoside Macrolides (azithromycin)
Metronidazole

ตารางที่ 2 แสดงถึงกลุ่มและชนิดของยาที่มีการออกฤทธิ์แบบ time dependent, concentration dependent และ concentration and time dependent

กรณีที่สงสัยว่าสัตว์ติดเชื้ออย่างรุนแรง ระหว่างที่รอผลเพาะเชื้อ เราควรจะใช้ยาเพื่อคุมการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มไหน ?

ปกติแล้วในกรณีที่เราสงสัยว่าสุนัขอาจจะติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยที่ยังไม่ทราบผลว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใด เราจะแนะนำให้จ่ายยาที่ออกฤทธิ์วงกว้างเพื่อการคุมการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก่อน โดยคำนึงฤทธิ์ในการควบคุมแบคทีเรียแกรมบวก แกรมลบ แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน เป็นต้น การใช้ยาอาจจะใช้เพียงชนิดเดียวหรือร่วมกันในกรณีที่สงสัยการติดเชื้อที่รุนแรง นั้นมักจะเกิดผล 1 ใน 3 อย่างต่อไปนี้ คือ

  1. Synergistic effect : เช่น การให้ยา β – lactams  ร่วมกับ aminoglycosides การให้ยาในลักษณะนี้มักจะให้ในรายที่พบสงสัยว่ามีการติดเชื้อที่รุนแรง โดยยาที่ให้จะส่งผลเท่ากับ  1 + 1 ได้มากกว่า 2
  2. Antagonistic effect : เช่น การให้ยากลุ่ม β-lactams กับกลุ่ม tetracyclines การให้ยาลักษณะนี้จะส่งผลให้ยาอีกชนิดหนึ่งออกฤทธิ์ได้ลดน้อยลงกว่าปกติ โดยจะได้ผลประมาณ 1 + 1 มากกว่า 1 แต่น้อยกว่า 2
  3. Additive effect : เช่น การให้ยากลุ่ม β-lactams 2 ชนิดเข้าด้วยกัน การให้ยาลักษณะนี้จะได้ผลคล้ายเดิมคือ 1 + 1 เท่ากับ 2 หมายความว่า ยาแต่ละตัวออกฤทธิ์กันอย่างอิสระ ไม่ได้ส่งเสริมหรือขัดขวางการทำหน้าที่ของกันและกัน อย่างไรก็ตามในทางคลินิกเราไม่ค่อยนิยมให้ยากลุ่มเดียวกันร่วมกัน เช่น การให้ imipenem ร่วมกับ cefazolin เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่สัตวแพทย์ทุกท่านควรระลึกไว้เสมอก็คือ ยาปฏิชีวนะสามารถควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น ในกรณีที่มีการอักเสบแบบอื่นหรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยได้เพียงป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนเท่านั้น จำเป็นจะต้องให้การรักษาแบบประคับประคองอาการร่วมด้วยเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถกำจัดเชื้อภายในร่างกายได้เอง นอกจากนี้การให้ยาปฏิชีวนะควรเริ่มจากยาที่ไม่ได้ออกฤทธิ์รุนแรงมาก สงวนการจ่ายยาที่ออกฤทธิ์รุนแรงเอาไว้ใช้กับการติดเชื้อที่ทำ bacterial culture and sensitivity test เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อยาในคลินิก ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ผลรักษาดีเท่าที่ควร

น.สพ.ประกิจ เกาะกายสิทธิ์

Colostrum สำคัญมากกว่าที่เราคิด

Colostrum สำคัญมากกว่าที่เราคิด

ลูกสัตว์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 วัน เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด พบว่าลูกสุนัขและแมวประมาณ 20% เสียชีวิตก่อนอายุ 21 วัน และ 70 – 90% ของการเสียชีวิต มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร (carnivore) จะอาศัยน้ำนมเหลือง (colostrum) ที่หลั่งเฉพาะในช่วง 2 วันแรกหลังการคลอดในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์แรก ที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าว เนื่องจากใน colostrum มีสารอาหารและสารภูมิต้านทาน (Immunoglobulin; Ig) โดยคุณภาพของภูมิคุ้มกันที่รับมา (passive immunity) และพลังงานที่ได้จาก colostrum จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวตของลูกสัตว์แรกเกิด

Colostrum เกิดขึ้นได้อย่างไร

ความแตกต่างของ colostrum กับน้ำนมปกติในสุนัข คือ สัดส่วนของชนิด Immunoglobulin โดยcolostrumจะมีปริมาณ IgG 60% IgA 35-40% และ IgM 5% ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อลูกสัตว์แรกเกิด โดยเป็นภูมิคุ้มกันเหลักในช่วง 3-6 สัปดาห์แรกของชีวิต IgG มีหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันทั่วร่างกาย ส่วน IgA และ IgM เป็นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ โดยความเข้มข้นของ IgG ที่สูงนั้นมาจาก IgG ในกระแสเลือดของแม่สุนัขจับกับตัวรับจำเพาะที่เซลล์เต้านม และสะสมอยู่ภายในเนื้อเยื่อเต้านมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์

เมื่อถึงเวลาเลี้ยงลูกหลังคลอด ปริมาณ IgG จะออกมามากในครั้งแรกของการหลั่งของน้ำนม และลดลงอย่างรวดเร็วถึง 50% ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ จะมีเพียง 40% ของ Ig ในนมน้ำเหลืองเท่านั้นที่สามารถดูดซึมผ่านทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดของลูกสุนัขได้ และการดูดซึมจะค่อยๆ ลดลงจนถึง 12 – 16 ชั่วโมงหลังคลอด ที่ช่องว่างระหว่างผนังลำไส้ (intestinal barrier) ของลูกสุนัขจะปิดทั้งหมด หรือที่เรียกว่า timing of the intestinal barrier closure ดังนั้นการได้รับน้ำนมตั้งแต่แรกเกิดจึงมีความจำเป็น เพื่อที่ลูกสัตว์จะได้รับภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ โดยระดับของภูมิคุ้มกันในลูกสุนัขอายุ 2 วัน คือควรมี IgG ในกระแสเลือดไม่ต่ำกว่า 2.3 กรัม/ลิตร

ลูกสุนัขควรได้รับนมน้ำเหลืองมากเท่าไรถึงจะพอ

ปริมาณ colostrum เฉลี่ยที่ลูกสุนัขควรได้รับเพื่อให้ได้ระดับภูมิคุ้มกันขั้นต่ำดังกล่าว คือ 1.3 มล. ต่อลูกสุนัขน้ำหนัก 100 กรัม ภายใน 8 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนค่าเฉลี่ยของปริมาณ colostrum ที่ควรได้รับเพื่อให้ได้พลังงานที่เพียงพอนั้นมีปริมาณมากกว่า คือ 12 มล. ต่อลูกสุนัขน้ำหนัก 100 กรัม ต่อวัน (พลังงานที่ลูกสุนัขต้องการ คือ 212 กิโลแคลอรี/กก./วัน, กรณี colostrum ให้พลังงาน 1,800 กิโลแคลอรี/ลิตร) ทั้งนี้ขึ้นกับความแตกต่างของ colostrum ในแม่สุนัขแต่ละตัว นอกจากนี้ความเข้มข้นของ IgG ในองค์ประกอบของ colostrum ยังแตกต่างกันระหว่างแม่สุนัขแต่ละตัว และแตกต่างระหว่างเต้านมแต่ละตำแหน่งอีกด้วย นั่นก็เพราะ IgG ไม่ได้ถูกสร้างจากเนื้อเยื่อเต้านม แต่เป็นเพียงการเข้ามาสะสมจนกระทั่งสิ้นสุดการตั้งครรภ์

ในช่วงเริ่มต้นของการให้นม แม่สุนัขจะมีปริมาณการผลิตน้ำนมต่ำ แต่จะเพิ่มมากขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด ด้วยเหตุนี้ colostrumในช่วงต้นจึงมีความเข้มข้นของระดับภูมิคุ้มกันมาก และจะค่อยๆ เจือจางลงเมื่อมีการผลิตน้ำนมมากขึ้น ดังนั้นลูกสุนัขที่คลอดเป็นลำดับท้ายๆ ของครอก จากแม่ที่ใช้ระยะเวลาคลอดนาน อาจพบว่าลูกสุนัขได้รับ colostrum ที่มีความเข้มข้นของภูมิคุ้มกันต่ำ เนื่องจากลูกสุนัขที่คลอดออกมาเป็นตัวแรกๆ เริ่มดูดนมไปก่อน จึงทำให้บางเต้านมได้มีการขับน้ำนมออกไปบางส่วนแล้ว ทำให้ปริมาณ IgG ลดลงก่อนที่ตัวอื่นๆ จะคลอด หรือเริ่มดูดนม

บทบาทของ colostrum

แม้ว่าช่องว่างผนังลำไส้ (intestinal barrier) ของลูกสุนัขจะปิดไปแล้ว แต่ทั้ง IgG และ IgA ใน colostrum ก็ยังคงมีส่วนร่วมในระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ (local immunity) ของทางเดินอาหาร โดยการดักจับสิ่งแปลกปลอม ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้แก่เม็ดเลือดขาวเช่นเดียวกับ antigen presenting cell นอกจากนี้ใน colostrum ยังประกอบด้วยฮอร์โมนที่มีความสำคัญ เช่น cortisol, insulin, growth hormone และ growth factors อีกหลายชนิด ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการและการเจริญของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน และต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มการดูดซึมสารอาหารและการเผาผลาญของลูกสัตว์ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ลูกสุนัขได้รับน้ำนมหรือ colostrum ไม่เพียงพอ มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริมภูมิคุ้มกันสูง (hyperimmune supplement) เพื่อช่วยเสริมให้ลูกสุนัขได้รับภูมิคุ้มกันและมีสุขภาพดี ได้แก่ การเก็บแช่แข็ง colostrum (colostrum banking) ของแม่สุนัขที่อยู่ในครอกเดียวกัน ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการทดแทน colostrum ให้กับลูกสุนัขแรกคลอด การเสริมด้วยเซรั่มของสุนัข และการเสริมผงไข่ภูมิคุ้มกันสูง (hyperimmune egg powder) จากแม่ไก่ที่ได้รับการทำวัคซีน Canine parvovirus type 2 (CPV2) เชื้อแบคทีเรีย E.coli หรือ Salmonella spp. เป็นต้น แม้ว่าอาหารเสริมเหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกัน IgG โดยตรง แต่ก็มีสารอาหารและพลังงาน ทั้งยังมีผลต่อการเจริญเติบโต เสริมการทำงานของทางเดินอาหาร เพิ่มปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ (intestinal microbiota) และสามารถป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารได้

สพ.ญ.ปลิดา กุลจรัสวัฒนะ

อ้างอิงข้อมูล:

S Chastant-Maillard, L Freyburger, E Marcheteau3, S Thoumire, JF Ravier6 and K Reynaud. Timing of the Intestinal Barrier Closure in Puppies. 2012. Reprod Dom Anim 47 (Suppl. 6): 190–193.

S Chastant-Maillard, C Aggouni, A Albaret, A Fournier, H Mila. Canine and feline colostrum. 2017. Reprod Dom Anim 52 (Suppl. 2): 148–152.

Hanna Mila, Alexandre Feugier, Aurelien Grellet, Jennifer Anne, Milene Gonnier, Maelys Martin, Lisa Rossig, Sylvie Chastant-Maillard. Immunoglobulin G concentration in canine colostrum: Evaluation and Variability. 2015. Journal of Reproductive Immunology (112): 24–28.

H Mila, A Grellet, C Mariani, A Feugier, B Guard, J Suchodolski, J Steiner, S Chastant-Maillard. Natural and artificial hyperimmune solutions: Impact on health in puppies. 2017. Reprod Dom Anim 52 (Suppl. 2): 163–169.